วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเป็นพลเมืองโลก

เพิ่มคำอธิบายภาพ

มนุษย์ทั่วโลกได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันนานนับหลายศตวรรษ ปัจจุบันความสัมพันธ์ในทุกๆด้านได้ทวีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางติดต่อกันโดยการเดินทางด้วยเครื่องบินขีดสมรรถนะของความเร็วเหนือกว่าความเร็วของเสียง การเดินทางออกสู่ห้วงอวกาศ การติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายระบบสารสนเทศ การเดินทางติดต่อทางเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดมหึมา หรือ การไหลเวียนของสินค้าตลอดจนเงินทุน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยิ่งทำให้มวลมนุษยชาติ    ทั้งโลกต้องติดต่อพึ่งพาอาศัยกันและกันมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ผลิตขึ้นโดยบรรษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติจากหลายประเทศได้ถูกส่งไปขายยังประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย  เงินตรา เทคโนโลยี และวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ข้ามเขตพรมแดนของตนไปยังพรหมแดนอื่นที่อยู่ไกลออกไป
บนเส้นทางแห่งการไหลเวียนของระบบการผลิตและระบบการเงิน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนอันไร้ขอบเขตของแนวคิดและวัฒนธรรมใหม่ซึ่งครอบคลุมวิถีแห่งวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิมของมนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ส่งผลให้เกิดการก่อรูปและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดจนส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดตลอดจนหลักการทางด้านสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของระบบการเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจรวมทั้งสังคมระหว่างรัฐชาติแต่ละรัฐชาติ สิ่งต่างๆที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้และกำลังคืบคลานเข้ามาเยือนทั่วทั้งโลก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นอุบัติการณ์ที่ปรากฏขึ้นให้สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าของมนุษย์ นับตั้งดาวเคราะห์ดวงหนึ่งของระบบสุริยะจักรวาล (Universe) อันหมายถึงโลก ได้อุบัติขึ้นและโคจรด้วยการหมุนรอบตัวเอง ไปพร้อมกับการหมุนรอบ ดวงอาทิตย์ซึ่งนับเป็น ศูนย์กลางแห่งระบบสุริยะจักรวาล ในขณะเดียวกัน




กำเนิดและวิวัฒนาการของมนุษย์
หลังจากที่โลกได้อุบัติขึ้นในระยะเริ่มต้นจะเป็นลักษณะของกลุ่มก๊าซร้อนและหมอกเพลิงเหนือขึ้นไปเป็นชั้นของบรรยากาศซึ่งมี โอโซน(O3) และไฮโดรเจน (H2) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ พลังแห่งความร้อนได้ทำให้ปฏิกิริยาทางเคมีพื้นฐานประทุขึ้น นั่นก็คือการแตกตัวของก๊าซโอโซนออกเป็นก๊าซออกซิเจน (O2) ประจุเดี่ยวอีกตัวหนึ่งของก๊าซออกซิเจนเข้าไปรวมตัวกับกับก๊าซไฮโดรเจน ผลลัพธ์ของปฏิกิริยาเคมีที่สำคัญครั้งนี้ทำให้ปัจจัยธาตุพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลกเกิดขึ้น คือน้ำ (H2O) และออกซิเจน (O2)
ปฏิกิริยาทางเคมีเช่นที่ว่านี้  ดำเนินต่อไป ในขณะที่เถ้าแห่งปฏิกิริยาเคมีถูกแรงดึงดูดให้ตกตะกอนทับถมลงในน้ำซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นผนวกกับการแปรสภาพทางเคมีของน้ำ วันแล้ววันเล่านับแสนล้านปีของวัฏจักรทางเคมีรวมทั้งวัฏจักรของน้ำนี้ได้ทำให้ตะกอนของเถ้าเคมีได้เพิ่มปริมาณขึ้นและเปลี่ยนสภาพเป็นแผ่นดิน ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน
เมื่อปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ รวมทั้งอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกลดลงอยู่ในระดับเหมาะสมประมาณ 37 ถึง 40 องศาเซลเซียส  สิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์เซลเดียว(Single Organism) ซึ่งมีเพียงนิวเคลียส ถือกำเนิดขึ้นในน้ำ จากนั้นวิวัฒนาการเป็นสัตว์หลายเซล(Multi Cellular Organism)สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ   สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์บก อวัยวะของสัตว์แต่ละยุคสมัยเกิดพัฒนาการหดหายไปหรือแปรสภาพไปให้เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต ตามทฤษฏีวิวัฒนาการรวมทั้งกฎแห่งการใช้และไม่ใช้ (Law of Use and Disuse of Evolutionary Theory) ของชาลส์ ดาร์วิน บิดาแห่งวงการชีววิทยา
และเมื่อกว่า 60 ล้านปี หนึ่งในจำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งได้วิวัฒนาการกลายเป็นพวกมนุษย์วานร (Ape) พยายามยืดตัวขึ้น และเคลื่อนไหวด้วยการใช้เท้าหลัง ในขณะที่เท้าคู่หน้าได้พัฒนาจากการการใช้ในการเคลื่อนไหว มาเป็นการทำหน้าที่อย่างอื่นเช่น การช่วยพยุงตัว การหยิบจับ หรือการถือวัตถุสิ่งของ ในทางชีววิทยาเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดและบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบัน โดยใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ว่า Homo ซึ่งแปลว่า มนุษย์ (สายพันธุ์ของมนุษย์ในปัจจุบันในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า (Homo Sapiens)
จากนั้นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ได้วิวัฒนาการผ่านยุคสมัยต่างๆ ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป  เริ่มต้นจากมนุษย์ยุคหินเก่า ซึ่งมีเพียงขวานหินรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินเป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีวิต สภาพการดำรงชีวิตในยุคแรกจะอยู่กันเป็นกลุ่ม (Band) เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยการเกิดสมาชิกใหม่ตามธรรมชาติหรือการโจมตี (Raiding) กวาดต้อนกลุ่มที่ด้อยอำนาจกว่ามาเป็นบริวาร จากสภาพกลุ่มจะพัฒนาขึ้นเป็นเผ่าชน (Tribe) หลายๆ เผ่าชนถูกผนวกให้มีขนาดจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนของระบบสังคมรวมทั้งความจำเป็นในวิถีการดำรงชีวิต (Mode of Subsistence) พัฒนาการนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่แว่นแคว้นและอาณาจักร (Chiefdom and Kingdom) ระบบต่างๆ ในสังคมได้พัฒนารูปแบบการเมืองการปกครอง กฎ กติกา เพื่อที่จะร้อยรัดทำให้คนจำนวนมากอยู่รวมกันด้วยความสงบสันติ
ทว่า ความต้องการทรัพยากรจำเป็นในการดำรงชีวิตของข้าราษฎร์ ความกระหายอำนาจ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆทำให้เกิดการสถาปนาใหม่ การล่มสลาย สงคราม ความขัดแย้งของอาณาจักรต่างๆทั่วโลก อาณาจักรที่มีพลังอ่อนแอในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ระบบสังคม หรือสมาชิกในอาณาจักรนั้นก็จะถูกอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่าทุกๆ ด้าน ผนวกให้เข้าไปรวมอยู่ภายใต้การปกครอง  และเกิดการสถาปนารัฐชาติหรือประเทศต่างๆ ขึ้นทั่วโลก ในระยะต่อมาเหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินติดต่อกันมาจนปรากฏให้เห็นสภาพความเป็นไปรวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาคมโลกในปัจจุบัน
                จากที่กล่าวนำมาทั้งหมดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โลกอยู่ภายใต้กฎอันเป็นปรมัตถสัจจะ ซึ่งหมายถึง ความจริงแท้ที่ไม่จำต้องพิสูจน์ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลง 
ดังนั้น ในเอกสารประกอบการเรียนนี้ จึงให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวในทุกบทเรียน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกในหลายๆ ด้านที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษยชาติหรือประชาคมโลกส่วนใหญ่
รากศัพท์ และนิยามความหมายของโลกาภิวัตน์        

คำว่า โลกาภิวัตน์ แรกเริ่มใช้ด้วยการสะกดคำเป็น โลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นคำสนธิระหว่างคำว่าโลก  อภิ แปลว่า ใหญ่ และวัฒนา แปลว่า การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเจริญขึ้น เมื่อพิจารณาจาก  รากศัพท์เดิมนี้ จะเห็นว่า โลกาภิวัฒน์ จะหมายถึง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือครั้งสำคัญของโลก ดังนั้นการศึกษาถึงเรื่องโลกาภิวัตน์ (คำสะกดในปัจจุบัน) จึงกินความครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน และโดยนัยแห่งความหมายนี้ โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นหากแต่เกิดขึ้นในโลกหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ดังเช่นข้อเขียนของ อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) นักวิชาการและนักวิจารณ์สังคม ซึ่ง ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคต ไว้ในหนังสือเรื่อง คลื่นลูกที่สาม (The Third Wave)” โดยเปรียบเทียบและแบ่งกลุ่มการเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษย์เหมือนกับคลื่นสามลูก ได้แก่
§  คลื่นลูกที่ 1 – การปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution หรือ Green Revolution) เกิดขึ้นราว 8,000 - 12,000 ปี ก่อน เป็นยุคสมัยที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงจากความป่าเถื่อน (Barbarian) ซึ่งยังชีพด้วยการเก็บผลไม้ ล่าสัตว์ ตกปลา(Hunting & Gathering) มาเป็นความ มีอารยธรรม (Civilization) คือเริ่มรู้จักการ ทำการเกษตร  การขุด พรวนดิน เพาะปลูก นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นอาหารและใช้งาน มีการค้าขายกันทำให้สังคมมนุษย์เจริญขึ้นมามาก อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติเกษตรกรรมนี้ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลาย อาทิการแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร การทำไร่เลื่อนลอย
§  คลื่นลูกที่ 2 – การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เกิดขึ้นราว 200 – 300 ปีก่อน (ค.ศ. 1650 – 1750) เป็นยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จักการนำพลังงานจากน้ำมัน  ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติมาใช้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตวัตถุดิบและสินค้าจากการเกษตรมาเป็นการผลิตโดยใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตด้วยพลังไอน้ำขนาดใหญ่และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
§  คลื่นลูกที่ 3 – การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Revolution) เกิดขึ้นราว 50 ปีก่อน (ค.ศ. 1955 ถึงปัจจุบัน) เป็นยุคสมัยที่มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีด้านเครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งส่งผลให้เกิดเสรีภาพในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว

จากสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ จะเห็นว่าสิ่งที่น่าจะเป็นดัชนีสำคัญที่สุดในการพิจารณาโลกาภิวัฒน์ คือ สาเหตุต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต (Human Mode of Subsistence) ของมนุษยชาตินั่นเอง
โลกาภิวัตน์  (Globalization) มาจากคำบาลี โลก + อภิวตฺตน ตามรูปศัพท์หมายถึง การแผ่ถึงกันทั่วโลก, การเข้าถึงโลก, การเอาชนะโลก แต่ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง "การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น"
โลกาภิวัตน์ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่บัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอันรวดเร็วและสำคัญต่อส่วนอื่นๆของโลก
ในสารานุกรมบริเตนิคา (Encyclopedia Britannica) ให้ความหมายว่า โลกาภิวัตน์ คือ กระบวนการซึ่งประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน......ได้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
"Globalization is the process by which the experience of everyday life ... is becoming standardized around the world."
และหมายถึง การเพิ่มขึ้นของการติดต่อและคมนาคมทั่วโลก การผนึกกำลังตลอดจนการพึ่งพาอาศัยกันและกันด้าน เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และนิเวศน์
“Globalization refers to increasing global connectivity, integration and interdependence in the economic, social, technological, cultural, political, and ecological spheres”
จากความหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า โลกาภิวัฒน์ มีขอบเขตของความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติอันเกิดจากขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย เทคโนโลยี การสื่อสาร รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อม


ผลกระทบของโลกาภิวัฒน์

ผลกระทบทางลบมักจะเห็นได้จากการแพร่ขยายของโรคและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทางด้าน การค้า    ยาเสพติด อาชญากรข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล และการอพยพย้ายถิ่นที่ผิดกฎหมาย
ผลกระทบทางบวกจะเป็นการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้ เงินลงทุน ทรัพยากร และคุณค่าทางจริยธรรม (ค่านิยม) สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคโลกาภิวัตน์ คือ การไหลหมุนเวียนของเงินลงทุน การค้า วัฒนธรรมตะวันตกฯลฯ
ดังนั้น  ผู้ศึกษา  จึงควรทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน ในสภาพของความเป็นมาและที่กำลังจะเป็นไปของโลกทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์กายภาพ สังคมวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง  กฎหมาย และเทคโนโลยี เพื่อสามารถรับมือกับกระแส ความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ในอนาคตได้อย่างเท่าทัน
โลกาภิวัตน์กับมิติทางสังคม

               โลกาภิวัตน์ มีขอบเขตของความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติอันเกิดจากขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย เทคโนโลยี การสื่อสาร รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราสามารถแยก โลกาภิวัตน์ของแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้
                โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ (Globalization of the Economy)
              จากการค้นคว้าจากเอกสารหรือบทความทางวิชาการ  พบว่าส่วนใหญ่ จะกล่าวถึง การผสมผสานกันระหว่างอุดมการณ์ระบบการตลาดแบบเสรีนิยม (Liberalism) กับ ความเจริญก้าวหน้าของการติดต่อสื่อสารรวมทั้งเทคโนโลยีการขนส่งซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย สินค้า บริการ และเงินทุน จากประเทศที่เป็นแกนกลางแห่งการพัฒนาโลก (Core Countries) อันหมายถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทางตะวันตก อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศที่อยู่ระหว่างกึ่งชายขอบ (Semi-Periphery) ซึ่งหมายถึง ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่อยู่ชายขอบแห่งการพัฒนา (Periphery) ซึ่งหมายถึงประเทศด้อยพัฒนา ตามลำดับ
              ชาติตะวันตกต้องการที่จะเปิดตลาดโลกสำหรับสินค้าที่ตนผลิตขึ้นและกอบโกยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แรงงานราคาถูกจาก ประทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา  ผ่านทางการกำหนดนโยบายของผู้เรืองอำนาจในประเทศอันเอื้อประโยชน์ให้แก่การแสวงหาผลประโยชน์   บรรดาประเทศเหล่านี้จะใช้กฎ ระเบียบของสถาบันการเงินระหว่างชาติรวมทั้งข้อตกลงทางการค้าเพื่อบีบบังคับให้บรรดาประเทศที่ยากจนต้องถูกผนวกและลดกำแพงภาษีนำเข้า ยอมปล่อยให้กิจการของรัฐตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของต่างชาติ ย่อหย่อนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งรวมทั้งการลดมาตรฐานการครองชีพของแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ ซึ่งทำให้ได้กำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทว่า ให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิดแก่ผู้ใช้แรงงานจนทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงปฏิเสธความไม่เท่าเทียมกัน(Inequity) การถูกครอบงำจากประชารัฐที่เหนือกว่าในทุกๆด้าน
              โลกาภิวัตน์ ทางด้านเศรษฐกิจ(Globalization of Economy) จึงหมายถึง บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนพื้นโลกที่มีการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกันจนเป็นอาณาบริเวณที่กว้างขวาง โดยโลกเศรษฐกิจจะไม่มีพรมแดนในลักษณะที่สอดคล้องกับการแบ่งเขตเกี่ยวข้องกับดินแดนหรืออาณาเขต ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ (State) แต่เป็นเขตแดนทางเศรษฐกิจ โดย โลกาภิวัตน์ในความหมายนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเป็นกลไกที่สำคัญที่ผลักดันให้กลายเป็นกระแสของการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าของประเทศที่แข็งแรงกว่าเข้าครอบงำประเทศที่อ่อนแอกว่า  โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้คือ
              1) ทุน (Capital) เศรษฐกิจโลกซึ่งจะต้องเป็นไปตามอุดมการณ์ของลัทธิทุนนิยม (Capitalism) ภายใต้การแข่งขันในลักษณะเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นลักษณะเศรษฐกิจของโลกตะวันตกที่มีเนื้อหาเน้นการสะสมทุนและการค้าแบบเสรี โดยต่างก็จะให้มีการเปิดการค้าระหว่างประเทศให้เป็นการค้าที่ไร้พรมแดนแต่ภายใต้การค้าเสรีนี้ ความได้เปรียบของบริษัทข้ามชาติ ก็จะมีมากกว่า ซึ่งเป็นความเสรีที่ไม่เท่าเทียมกัน ทุนจะมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศต่างๆของโลกที่ให้เงื่อนไขและผลประโยชน์ที่ได้กำไรสูงสุด
              2) การครอบงำผ่านทางข้อมูล-ข่าวสาร (Information Hegemony) การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มีการเชื่อมโยงสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โลกถูกเชื่อมด้วยข้อมูลข่าวสารและมักเป็นข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียวจากโลกตะวันตก หรือจากประเทศซึ่งมีอำนาจเศรษฐกิจและการทหารที่เหนือกว่า โดยการครอบงำและสร้างกระแสข่าวตามที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองและเศรษฐกิจของตะวันตก เป็นการครอบงำทางข่าวสาร และวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความเชื่อของมนุษยชาติในการที่จะต้องบริโภคข่าวสาร, การบริโภคสินค้า, บริการ และวัฒนธรรมของตะวันตกนั้นและเชื่อว่าการบริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
            3) ค่านิยม (Value) โลกาภิวัตน์ได้สร้างค่านิยมผ่านทางข้อมูลข่าวสาร โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ
§  ค่านิยมทางการเมือง ทุกประเทศในโลกต้องเป็นแนวประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งประเทศต่างๆ หากจะต้องมีรูปแบบการเมืองการปกครองในแบบเดียวกัน มิฉะนั้นก็จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือใช้กำลังทหารเข้าไปปลดปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย โดยไม่สนใจต่อความพร้อมหรือวิถีชีวิตของคนในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการเมืองในระบบประชาธิปไตย เมื่อถูกผ่านการครอบงำผ่านทางข้อมูลข่าวสารจากโลกตะวันตก ก็จะทำให้ประชาชนมีค่านิยมที่จะเลือกผู้นำที่มีแนวความคิดแบบการค้าเสรีหรือเป็นนายทุนเศรษฐกิจแบบตะวันตกไปเป็นรัฐบาล ซึ่งก็จะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ กฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติสามารถเข้าไปแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความอ่อนแอกว่า ซึ่งจะมีผลต่อจะต้องมีการพึ่งพาโลกตะวันตก
§  ค่านิยมทางเศรษฐกิจ โลกจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) โดยถือหลักการว่าที่ไหนถูกก็ผลิตหรือซื้อที่นั่น โดยต่างฝ่ายจะใช้มาตรการทางภาษีให้มีน้อยที่สุด โดยโลกตะวันตกก็จะมีการปกป้องธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในรูปแบบของการกีดกันทางการค้า ในแบบที่เรียกว่า Non Tariff Barrier (NTB) การค้าของโลกจะตกอยู่ภายใต้กติกาขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization -  WTO) ที่โลกตะวันตกไม่กี่ประเทศเป็นผู้บงการ และข้อตกลงในลักษณะที่เป็นทวิภาคี ได้แก่ ที่มาในรูปแบบของเขตการค้าเสรี (Free Trade Area –FTA) ซึ่งหาก WTO ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ก็จะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือในระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (Asian Free Trade Area - AFTA ), ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) เป็นต้นดังนั้น การค้าเสรีของ Globalization นั้นจึงเป็นความเสรีบนความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรมทางการค้า
§  ค่านิยมทางสังคม โดยการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรม โดยผ่านทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้การค้าของโลกจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) การบริโภคนิยม (Consumerism) การนิยมวัตถุ (Materialism) รวมถึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะอนุรักษ์เฉพาะในสิ่งที่ประเทศด้อยพัฒนาไม่พร้อม แต่โลกตะวันตกพร้อม
§  ค่านิยมการปกป้องทางการค้า (Protectionism) การค้าโลกาภิวัตน์ จะเกิดขึ้นพร้อมกับการปกป้องทางการค้าในรูปแบบของลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะมาจากโลกตะวันตก ซึ่งจะใช้ลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการปกป้องสินค้าและบริการ นอกเหนือจากนี้การใช้มาตรการทางด้านการเงิน ผ่านกองทุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB )และฯลฯ   ซึ่งองค์กรทางด้านเศรษฐกิจระดับโลกเหล่านี้มักจะมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจข้ามชาติ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง รวมทั้งการใช้มาตรการที่ป้องกันผู้ก่อการร้ายของก็อยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์เช่นกัน

อีกความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ คือ การที่โลกเราเป็นโลกไร้พรมแดน เป็นโลกที่เรียกว่า Borderless  World คือ เป็นโลกของการไหลเวียนทางสินค้า การเงินและการบริการ หรือเป็นยุคที่เรียกว่า Free Trade คือ ยุคการค้าเสรี  โลกาภิวัตน์  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กระแสโลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมเข้าไปและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเพราะเกิดการโต้เถียงกันถึงผลของโลกาภิวัตน์ว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความร่ำรวยและความยากจนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม  ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของกระแสโลกาภิวัตน์นี้ก็แตกต่างกันออกไปตามความคิดของคนซึ่งอยู่ต่างสังคมกัน
ดังนั้นกระแสโลกาภิวัตน์จึงส่งผลเด่นชัดในแง่มุมของเศรษฐกิจเพราะกระแสโลกาภิวัตน์เกิดจากการพัฒนาของระบบทุนนิยมนั่นเอง เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และสังคมรอบโลกเป็นผลมาจากการเกิดการหมุนเวียนของสินค้าและการให้บริการ เงินทุน คนและการพัฒนาการทางความคิดต่างๆ กระบวนการเหล่านี้เป็นผลมาจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนและการหมุนเวียนทางด้านการเงิน การเติบโตทางกิจกรรมการค้าขายระหว่างประเทศนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายแบบ กิจกรรมการค้าขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการค้าขายระหว่างบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เท่านั้น  แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและระดับชั้นเช่น การค้าขายระหว่างพ่อค้าปลีกตามแนวพรมแดน ไทย-พม่า เพราะกิจกรรมการค้าขายเหล่านี้เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “Cross-border economic activities”
              “Economic Globalization” คือ กระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วระหว่างประเทศ กระบวนการเหล่านี้ถูกผลักดันให้ขับเคลื่อนโดยการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) การนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติ (Foreign Direct Investment) และโดยระบบเงินทุนที่หมุนเวียน กระบวนการเหล่านี้แสดงออกในตัวมันเองในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
§  การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทางสินค้าและบริการ(International Trade of Goods and Services) : การเติบโตของประเทศที่นำเข้าซึ่งสินค้าและบริการมาจากต่างประเทศ และการเพิ่มมากขึ้นของประเทศที่ส่งสินค้าออกขายนอกประเทศ และจากสถิติของ World Bank’s World Development Indicators 2000 การค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ต่างมีสถิติตัวเลขที่ทวีมากเพิ่มขึ้น
§  การลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment and Short-term Flows) : การที่บริษัทที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประทศใดประเทศหนึ่งและมาลงทุนในการดำเนินธุรกิจยังประเทศอื่นที่ ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนขึ้นในประเทศนั้นๆ ทำให้หลายๆ ประเทศที่ต้องการเงินสนับสนุนลงทุนจากต่างชาติมีนโยบายมาสนับสนุนและเพิ่มความสะดวกสบายแก่นักลงทุนชาวต่างชาติมากเพิ่มขึ้น
§  การหมุนเวียนของตลาดทุน (Capital  Market Flows) : ในหลายๆ ประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา) การออมของประชาชน (saving) มีมากเพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การซื้อพันธบัตรต่างชาติและพยายามไม่ลงทุนมากนักเพราะต้องการเก็บรวมทรัพย์สินของตนไว้ด้วยกัน เป็นผลให้ผู้กู้ยืม(Borrower) ที่มีมากเพิ่มขึ้น ต่างต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศพร้อมๆ กันกับที่หาในประเทศ

              ปัจจุบันแม้ว่าคำว่า โลกาภิวัตน์จะใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่ความหมายก็ไม่ได้ชัดเจนครอบคลุมโดยทั้งหมดและส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ในด้านของกระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมากพอๆกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี   เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์เกี่ยวข้องกับในทุกด้าน ทั้งทางด้านธุรกิจ แรงงาน สินค้า และบริการ
              ดังนั้น ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ จึงเกี่ยวพันและส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่  และหัวข้อที่องค์กรและกลุ่มคนส่วนใหญ่กล่าวถึงคงไม่พ้นในเรื่อง กระแสโลกาภิวัตน์ : ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน” (Globalization : Poverty  and  Inequality) ซึ่งได้โต้แย้งและมีความคิดเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายในเรื่องนี้  เพราะฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการเปิดตลาดเสรีนำไปสู่ความมั่งคั่ง และการแข่งขันทำให้นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ, ความก้าวหน้า, ราคาสินค้าที่ต่ำลง,  ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมีความเห็นขัดแย้งว่าความเจริญก้าวหน้า การเปิดการค้าเสรีซึ่งเป็นผลทำให้มีการแข่งขันสูงและเป็นเหตุให้เกิดภาวะการแข่งขันในการลดราคาสินค้าทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถต้านทานแรงขายปริมาณมากในราคาขายต่ำของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินทุนมากไว้ได้  ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กนั้นต้องล้มไป
                โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม( The social dimension of globalization)
              โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม หมายถึง ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อวิถีชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว  อาชีพการงาน รวมทั้งชีวิตทางสังคมของผู้คน ประเด็นเน้นหนักจะเกี่ยวข้องกับการทำงาน สภาพการทำงาน รายได้ และการคุ้มครองหรือสวัสดิการสังคม นอกเหนือไปจากนั้น มิติทางด้านสังคมจะครอบคลุมถึง ความปลอดภัยในทรัพย์สิน วัฒนธรรมรวมทั้งอัตลักษณ์ ความสามัคคีการแตกแยก รวมทั้งความสมานฉันท์สามัคคีในครอบครัวและชุมชน
              โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคมจะมุ่งไปสู่การขจัดปัญหาการว่างงาน ความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาค รวมทั้งความยากจน  และความยั่งยึนของโลกาภิวัตน์ทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและกฎหมาย จะบังเกิดสัมฤทธิ์ผลของโลกาภิวัตน์ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์นั้นสนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคมในภาพรวม
                โลกาภิวัตน์ทางด้านวัฒนธรรม (Globalization of Culture )
              การแพร่กระจายของค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมตะวันตกจะยิ่งช่วยส่งเสริมแนวคิดแบบทุนนิยมตะวันตก และทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการบริโภค เอาชนะจิตสำนึกและจิตวิญญาณ  รวมทั้งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน
              ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทุกด้าน อาทิเช่น การติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ท  ดาวเทียม เคเบิลทีวี จะทำลายกำแพงแห่งวัฒนธรรม  รายการสาระและบันเทิงจะค่อยๆพัฒนาการรับรู้และความใฝ่ฝันตามความนิยมชมชอบไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก  ในขณะเดียวกันกับที่ ค่อยๆแทรกซึม ค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มเอื้อหนุนต่ออุดมการณ์แบบทุนนิยมตะวันตก วัฒนธรรมดั้งเดิมอาจจะตกเป็นเหยื่อ  อุดมการณ์บริโภคนิยมจะมีชัยต่อจิตสำนึกชุมชนและความสมานฉันท์สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม
               


โลกาภิวัตน์ทางด้านกฏหมาย (Globalization of Law )
              ในอดีต กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ-ชาติ ซึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะตำรวจจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการปกครอง  ในลักษณะตรงกันข้าม กฎหมายระหว่างประเทศค่อนข้างจะอ่อนแอรวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพ
              ทว่า  โลกาภิวัตน์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงร่างของกฎหมายรวมทั้งการสถาปนาบรรทัดฐานและสถาบันทางด้านกฎหมายของโลก ศาลอาญาของโลก ให้สัตยาบันว่าจะสร้างความยุติธรรมให้แก่บุคคลแห่งรัฐ บนพื้นฐานแห่งกฎหมายอาญาทั่วโลก  ในขณะเดียวกันกับที่ความร่วมมือระหว่ารัฐต่อรัฐได้ทำให้เกิดการทดลองใช้ความผิดทางอาญาที่มีความชัดแจ้งร่วมกันว่าเป็นการกระทำความผิด
              การเปลี่ยนแปผลงทางด้านกฎหมายทางธุรกิจไปสู่ระดับโลก  จะก้าวหน้ามากกว่ากฎหมายอย่างอื่นด้วยเหตุที่หลายประเทศได้บรรลุข้อตกลง กฎ กฎหมายรวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามาตรฐานเดียวกัน  ทูตพาณิชย์จากหลายประเทศรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกันร่างกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ทรัพย์สินทางปัญญา ตราสารเอกสารทางด้านการเงินระหว่างประเทศ หรือ    บรรษัทที่มีกิจการระหว่างชาติขนาดใหญ่ ได้ปรับปรุงกฎระเบียบวิธีการปฏิบัติให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทระหว่างชาติด้วยการสร้างรูปแบบการปฏิบัติขนาดยักษ์ ด้วยผู้ชำนาญการนับพันคนในมากกว่าสิบประเทศ
                โลกาภิวัตน์ทางด้านการเมือง(Globalization of Politics)
              ในอดีต ระบบการเมืองของประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างมุ่งเน้นไปที่ความพยายามที่จะผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงและความมั่งคั่ง ความผาสุกของประชน การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้อาณัติเขตแดนของตน
              แต่ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิเวศน์ การผนึกกำลังกันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมทั้งแนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ทางด้านอื่น ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการเมืองขยายตัวสู่ระดับโลกตามไปด้วย ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ระบบการเมืองจำต้องปรับตัวให้สูงกว่าระดับประเทศ ด้วยการแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก อาทิเช่น การสถาปนาสหภาพยุโรป(European Union- EU) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ ธนาคารโลก (World Bank) หรือองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
สรุป
§  โลกาภิวัตน์ เป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก
§  โลกาภิวัตน์ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของ ประชาคมโลกทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง กฎหมาย เทคโนโลยีและวัฒนธรรม
§  ผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาคมโลก สามารถแยกออกเป็นสองแนวทาง คือ
                   ในทางลบ ผลกระทบนั้นจะหมายความรวมถึง
                        -  การครอบงำโลกทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอภิมหาอำนาจ โดยใช้ ความได้เปรียบที่เหนือกว่าทางด้านความก้าวหน้าทางสื่ออิเล็กโทรนิกส์ อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ทลายกำแพงแห่งวัฒนธรรมจนต้องถูกผนวกเข้าเป็นประเทศกึ่งบริวาร และประเทศบริวารในท้ายที่สุด
                   ในทางบวก โลกาภิวัตน์ จะหมายความรวมถึง
                         -การส่งเสริมปัจจัยทางด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี ระบบการผลิตข้ามพรหมแดน และการแพร่สะพัดของระบบข้อมูลข่าวสาร    ซึ่งทำให้ประชาคมโลกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันและกันมากยิ่งขึ้น
                         -นโยบายและสถาบันต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการผนึกกำลังทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในระดับทวิและพหุภาคี อาทิเช่น  มาตรฐานการใช้แรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบรวมกิจการ รวมทั้งข้อตกลงว่าด้วยการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา
                         -  ในความหมายนี้ โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เป็นผลพวงของนโยบาย  ซึ่งสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี


ข้อเท็จจริงในสังคมไทย
§  สภาพสังคมไทยปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารแต่สังคมเกษตรกรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ และสังคมอุตสาหกรรมก็ยังคงอยู่
§  สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีความสับสนและยุ่งเหยิงที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสารและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
§  คนไทยกว่าร้อยละสี่สิบ ยังคงเป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

โลกาภิวัตน์ : ความยากจน ความไม่เสมอภาค (Globalization: Poverty Inequality)

ในความเห็นแรกเห็นว่า โลกาภิวัตน์สามารถช่วยลดความยากจนของประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ได้แต่จะเป็นการดียิ่งขึ้นในการช่วยประเทศที่ยากจนที่สุด (Poorest Country) ซึ่งแนวความคิดนี้เห็นว่าโลกาภิวัตน์สามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และรายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้และหวังว่าประชาชนควรให้ความร่วมมือด้วยอย่างมาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วพบว่าประเทศกำลังพัฒนา 24 ประเทศที่เข้าร่วมในเศรษฐกิจระดับโลกในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี1990) ได้ประสบความสำเร็จในด้านของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้นดีขึ้น
ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ฮังการี และเม็กซิโก ได้รับมาซึ่งนโยบายทางการเมืองและสถาบันที่เอื้ออำนวยให้ประชากรได้รับผลประโยชน์จากตลาดการค้าโลก และยังรวมถึงการเพิ่มของรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP) ของประชากรในประเทศด้วย ดังนั้นประเทศที่กล่าวถึงเหล่านี้ประชากรได้ทราบถึงประโยชน์และรายได้ที่มากเพิ่มขึ้น และจำนวนความยากจนของประชากรที่ลดจำนวนลง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมทางเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจโลก  ประชากรประมาณสองพันล้านคนที่เข้าร่วม เช่นในประเทศแถบแอฟริกา (Sub-Saharan  Africa) ประเทศแถบตะวันออกกลาง ประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเก่า และคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ถูกมองข้าม  ประเทศที่กล่าวถึงเหล่านี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำตัวเองให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกได้ เพราะฉะนั้นอัตราส่วนของการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศจึงยังคงที่อยู่หรือมิเช่นนั้นก็ลดลง กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ความยากจนเพิ่มมากขึ้น ระดับการศึกษาก็พัฒนาขึ้นน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ปรับตัวเข้ากับกระแสเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ได้ดีกว่า  เพราะฉะนั้นจะเป็นการดีที่ประเทศที่ยากจนควรพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยแก่การลงทุนมากเพิ่มขึ้น(Investment Climate) และควรสนับสนุนให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนให้มีการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและควรได้มาซึ่งโอกาสอันได้เปรียบของการปรับปรุงส่งเสริมการลงทุนเช่นว่านี้
ในการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนและการสร้างงาน ต้องมีหลักธรรมภิบาลในการบริหารที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Governance), มาตรการในการต่อสู้กับการคอรัปชั่น (Combat Corruption), ปรับปรุงระบบการทำงานและขั้นตอนการบังคับบัญชาของหน่วยงานราชการ, การปกป้องทางทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Medium-sized firms) ซึ่งธุรกิจที่กล่าวนี้คือกุญแจสำคัญในการสร้างและยกระดับมาตรฐานชีวิตของพื้นที่ยากจนที่อยู่ห่างไกลออกไป (rural poor area)
แม้ว่าจะได้กล่าวมาถึงกระแสโลกาภิวัตน์ในหลายๆด้านแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการยากที่จะให้ความหมายเฉพาะเจาะจงของความสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าพัฒนาทางสังคม โลกาภิวัตน์เป็นหัวข้อที่มีการอภิปรายถกเถียงกันมากที่สุดหัวข้อหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการพัฒนาการของสังคมในช่วงปี 1990  กระแสโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่น่าพอใจและส่งผลดีต่อประชาชนและสังคมโดยทั่วไป  แต่ในขณะเดียวกันบางคนเห็นว่าโลกาภิวัตน์เปรียบเสมือนพลังผลักดันไปสู่ความหรูหรารุ่งเรืองและให้ประเทศที่ยากจนกว่า (Poorer Countries) พยายามก้าวทันไปกับเศรษฐกิจโลกโดยที่ตัวเองยังไม่พร้อม  ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปมองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเสมือนสิ่งที่จำเป็นในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือในระดับประเทศ (Domestic)โลกาภิวัตน์จะทำให้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อคนชั้นทำงานในเรื่องสวัสดิการสังคม และอาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในสังคม  ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาได้เหมือนๆ กัน
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วคือเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศที่กำลังพัฒนา  ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาความกลัวที่เกิดคือการกลัวที่จะไม่สามารถสู้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในสภาวะการแข่งขันอย่างเสรีและจะทำให้เกิดช่องว่างที่ต่างกันทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลกและความกังวลระหว่างกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาว่าโลกาภิวัตน์จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศตนอ่อนแอมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรอบของการส่งออกของประเทศยังไปในลักษณะแคบๆ แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในกรอบของการค้าขายแลกเปลี่ยนได้รับการตอบรับอย่างสูง  
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ ความไม่แน่นอนในระบบเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นที่มีการนำมาลงทุนในประเทศ  ซึ่งอาจมีผลเสียกล่าวคือ สถาบันการเงินภายในประเทศไม่แข็งแรงพอที่จะต้านรับไหว (ฐานการเงินของเราอาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะต้านรับเงินทุนก้อนใหญ่ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วจากต่างประเทศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ  กล่าวคือ ความไม่พร้อมนั่นเอง) ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
วิกฤติการณ์เรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ กล่าวคือ เกิดการแข่งขันกันระหว่าง ระบบเศรษฐกิจแบบใช้ค่าจ้างแรงงานต่ำ กับ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ค่าจ้างแรงงานสูง และลดปริมาณการใช้แรงงานที่ไร้ฝีมือ ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และกระแสโลกาภิวัตน์ก็เป็นหนึ่งในแนวโน้มของโลกที่ยังเดินหน้า แนวโน้มหนึ่งข้อในทั้งหมดก็คือเศรษฐกิจโลกอุตสาหกรรมกำลังเติบโตเต็มที่และโลกปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเป็นการจ้างแรงงานที่มีฝีมือ
ในความเป็นจริง กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ของโลกง่ายขึ้น และราคาถูกลง โดยนำผลกำไรและประโยชน์ให้กับรูปแบบการลงทุนแบบทุนนิยม นวัตกรรม เทคโนโลยีและราคาที่ถูกลงของสินค้านำเข้า โดยทั่วไประบบของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และมาตรฐานการครองชีพของกลุ่มประเทศโลกอุตสาหกรรมย่อมจะดีกว่าประเทศที่เป็นเศรษฐกิจระบบปิด แต่ได้รับประโยชน์ในรูปแบบของกระแสโลกาภิวัตน์ในกลุ่มประเทศต่างๆ นั้นจะไม่เท่ากัน บางประเทศจะสูญเสียผลประโยชน์และยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมได้
นโยบายตอบสนองที่เหมาะสมสำหรับกระแสโลกาภิวัตน์ในประเทศต่างๆ
รัฐบาลควรปกป้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มที่เสียเปรียบ เช่น กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือที่ได้ค่าแรงต่ำ  หรือรัฐบาลควรเข้มงวดกับเรื่องสินค้านำเข้า  หรือรัฐบาลควรจะเข้มงวดกับการค้าขายแลกเปลี่ยนและนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ  โดยทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องการแก้ปัญหาแบบระยะสั้นเท่านั้น
สำหรับนโยบายที่รัฐบาลควรจะทำก็คือ เสริมสร้างความผสมกลมกลืนเรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ให้กับประเทศตน ในขณะเดียวกันก็ควรจะดูแลแรงงานประเภทได้ค่าจ้างแรงงานต่ำและได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงนี้ อีกทั้งควรส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเปิดให้มีการค้าได้โดยเสรี เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลควรจะเป็น 2 สิ่งสำคัญ ดังนี้
§  เน้นฝึกฝนวิชาชีพ และให้การศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม จุดประสงค์เพื่อให้แรงงานทั้งหลายได้พัฒนาฝีมือของตนให้เหมาะสมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
§  ต้องมีระบบการวางแผนที่ดีด้านสวัสดิการทางสังคม สำหรับช่วยเหลือกลุ่มแรงงานในกรณีที่ไม่มีงานทำ

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี 1990 ที่เกิดใน เม็กซิโก ไทย อินโดนีเซีย เกาหลี รัสเซีย และบราซิล เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของโลกาภิวัตน์ จะเห็นได้ชัดว่า ช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีการเปิดกว้างของตลาดทุนโลกและในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยในการพัฒนาการการเติบโตของประเทศหากไม่มีเงินทุนที่ไหลเวียนเข้ามา ซึ่งวิกฤติการณ์ที่ซับซ้อนนี้เป็นผลมาจากข้อบกพร่องทางด้านนโยบายของรัฐและระบบการเงินระดับประเทศ ซึ่งปัจเจกบุคคลรวมทั้งสังคมระดับประเทศควรระวังและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ส่วนวัตถุประสงค์ของทิศทางเศรษฐกิจระดับโลก คือ พยายามทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจและการเงินมั่นคงขึ้น วัตถุประสงค์โดยกว้างๆ คือ ให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ซึ่ง IMF เป็นจุดศูนย์กลางและมีบทบาทสำคัญของกระบวนการนี้
โลกาภิวัตน์กับอำนาจในความเป็นอธิปไตยในการสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจ

การบูรณาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเงินนั้นทำให้การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปได้ยากขึ้น เช่น เป็นการจำกัดทางเลือกของรัฐบาลในการจัดการระบบภาษี และการจัดเก็บภาษี หรืออิสระในการออกนโยบายทางด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผลของโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว
สำหรับผลกระทบในระยะสั้นจะเห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมา เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น (การลงทุนระยะสั้น) ส่งผลต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้นในระดับตลาดเศรษฐกิจโลกประเทศจะประสบกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในการดำเนินการตามนโยบายซึ่งไม่ได้เป็นการสนับสนุนระบบการเงินให้มั่นคง  ความเสี่ยงอีกประการคือการที่นักลงทุนบางคนโดยเฉพาะนักลงทุนระยะสั้น (Short-Term investor) มีความหวังมากเกินไปในประเทศที่เข้าไปลงทุนในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นของประเทศนั้นๆ แต่เมื่อนโยบายทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยน (เศรษฐกิจขาลง) นักลงทุนระยะสั้นเหล่านี้ต่างก็ถอนเงินทุนออกไปอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากประเทศนั้น เพราะในระดับประเทศ นักลงทุนมักไม่ค่อยระวังกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และบางครั้งข้อมูลที่มีให้ก็ไม่พอเพียงซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนถอนทุนไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นการสำคัญที่ควรจะมีขั้นตอนที่ลดความเสี่ยงนี้
ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ ไม่ได้ลดทอนความเป็นอธิปไตยของรัฐ แต่เป็นผลให้รัฐบาลคล้อยตามนโยบายทางเศรษฐกิจมากขึ้น และยังเป็นตัวช่วยส่งเสริมธุรกิจเอกชนให้มีความระมัดระวังและวิเคราะห์ความเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะเพิ่มความมั่นคงในเรื่องของระบบเงินทุนหมุนเวียน  การลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติยังคงดำเนินอยู่ ในที่นี้โลกาภิวัตน์นำไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่ๆ ทางธุรกิจ และกุญแจสำคัญของการเงินระดับประเทศ คือการพัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีพื้นฐานจากหลักการที่ได้รับการยอมรับและความสามารถใช้ได้ในหลายๆ ประเทศ

แนวโน้มในอนาคตของกระแสโลกาภิวัตน์

กระแสโลกาภิวัตน์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายอย่างหลากหลายและทั่วถึงส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมมากขึ้นวัฒนธรรมบริโภคนิยมเพิ่มขึ้น เพราะกระแสโลกาภิวัตน์และวิกฤติเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทางการค้าก่อให้เกิดภาวะ การปรับตัวไม่ทันทางสังคม    การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผัน การแข่งขันสูง ก้าวสู่ระบบทุนนิยม วัตถุนิยม ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ นำไปสู่การพัฒนาในทุกด้าน แต่ขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ความพยายามที่จะก้าวให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์อาจทำลายศักยภาพของคน ชุมชน ท้องถิ่น ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กล่าวคือเกิดภาวะทันสมัยแต่ไม่พัฒนา  ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น แรงงานที่ไร้คุณภาพ การว่างงานเพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ในสังคมปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมเข้าไปและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันและแนวโน้มในทั้งกระแสโลกาภิวัตน์จะส่งผลต่อด้านต่างๆ คือ
§  การคมนาคม การสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก การเปลี่ยนแปลง ณ จุดหนึ่งจุดใดในโลก จะกระทบและรู้กันไปทั่ว
§  มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่มากมาย ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล สังคมและชุมชนจำต้องปรับเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเดิม มีการสร้างกฎเกณฑ์ และการกีดกันระหว่างผู้ที่แข็งแกร่ง และผู้ที่ด้อยกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง
§  โลกมีทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือ ในขณะที่มีการแข่งขันกันอย่างมากไม่ว่าด้านธุรกิจ การศึกษา ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือจับกันเป็นกลุ่ม เป็นพันธมิตรกัน เพื่อร่วมแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างได้แก่  World Trade Organization หรือ WTO (องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
§  มีการเผชิญหน้ากันด้วยภูมิปัญญา (knowledge competition) โลกปัจจุบัน ไม่ได้แข่งกันเพียงด้านกำลังเงิน กำลังคนเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ภูมิปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานเน้นที่ความสามารถของบุคคล
§  มีความเจริญรุ่งเรืองของผู้ที่แข็งแกร่ง ขณะที่เกิดการล้มละลาย ล่มสลายของผู้ที่อ่อนแอ
ดังนั้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และทุกประเทศต่างมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยที่เสริมสร้างบทบาทของการพัฒนาคือ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลไกระดับชาติ ว่ามีกลไกรองรับกระแสโลกาภิวัตน์มากน้อยเพียงใด ซึ่งการเสริมสร้างศักยภาพ คือแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละประเทศสามารถสร้างกลไกและนโยบายในประเทศให้มีความเข้มแข็งเพียงพอ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับท้องถิ่นคือ การมี       ส่วนร่วมของประชาชน กำหนดแนวทางการทำงานที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์และวิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่พึงปรารถนา โดยยึดหลักการการพึ่งตนเอง และการสร้างความเข้มแข็งซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะก่อให้เกิดพลังที่จะร่วมกันพัฒนาการกระจายอำนาจผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและมั่นคง
                สรุป: ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์
นับว่าเป็นการยากมากที่จะประเมินผลความซับซ้อน และปรากฏการณ์ของกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นการยากที่จะแยกแยะผลของโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม  โดยในการศึกษาเกี่ยวกับ   โลกาภิวัตน์นี้ประเทศส่วนใหญ่หมายรวมถึงการเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการสังคมของประชาชน การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และการมาลงทุนของชาวต่างชาติ  กล่าวคือเป็นการนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ เข้าอยู่ในกระแสเศรษฐกิจและระบบการค้าเสรีโดยการพยายามที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างต่างๆ  ซึ่งส่งผลให้ตนเองมีสิทธิพิเศษทางด้านการค้าขายต่างๆ กับประเทศภาคีสมาชิก เพราะฉะนั้นกระแสโลกาภิวัตน์นั้นเองที่เป็นตัวการผลักดันให้เกิดโลกาภิวัตน์ ผลที่ตามกลับมาคือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง  กุญแจสำคัญที่น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ คือ ความเป็นอิสระเศรษฐกิจ  การเมือง และเทคโนโลยีการสื่อสาร(การย่อโลกให้เล็กลง  เช่นอินเตอร์เน็ต)
แนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ คือ     การเปิดรับและการเปลี่ยนอย่าง  ค่อยเป็นค่อยไป ในการเข้าร่วมตลาดเศรษฐกิจระดับโลกทั้งทางด้านสินค้า ทุนและบริการ และต้องยอมรับด้วยว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้นำมาซึ่งโอกาส  หากแต่มีความเสี่ยงตามมาด้วย  กล่าวคือในขณะที่โลกาภิวัตน์นำมาซึ่งโอกาสที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจที่โตขึ้น และมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญปัญหาที่ท้าทายว่าจะสามารถลดความยากจน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ  และก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่   การร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญและก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย  โดยประเทศที่ร่ำรวยควรมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประสบปัญหาด้านการเศรษฐกิจ  รัฐบาลควรให้การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจในประเทศและเสริมสร้างนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุน
ที่มา :     ดร.อนัตต์  ลัคนหทัย  ประชาคมโลก (Global Community)   บทนำ มนุษย์ภายใต้กระแสการ    เปลี่ยนแปลงของโลก                                        
            วรรณะ รัตนพงษ์ และ ดร.อนัตต์  ลัคนหทัย  ประชาคมโลก (Global Community) บทที่ 8 ประชาคม    โลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น